รู้ทันโรคซิฟิลิส ป้องกันก่อนสายเกินแก้

โรคที่เกิดขึ้นทางเพศสัมพันธ์มักไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึงเพราะทำให้เกิดความไม่สบายใจและรู้สึกอับอาย ทั้งที่แท้จริงแล้วเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับหลายคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น คนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย วัยรุ่น วัยทำงานที่ไม่ป้องกันตัวเองเมื่อมีเพศสัมพันธ์ โรคซิฟิลิส โรคติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ก็นับเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามและเพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องจะได้ป้องกันตนเองให้ห่างไกลโรคนี้ วันนี้มาทำความรู้จักกับซิฟิลิสให้รอบด้านกันดีกว่าว่าเกิดจากอะไร มีแนวทางป้องกันอย่างไรบ้าง

โรคซิฟิลิส คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด

ซิฟิลิส คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย รวมถึงสามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้ด้วย หากว่าตั้งครรภ์จึงต้องตรวจหาโรคซิฟิลิสด้วยเช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อเด็กในท้องร้ายแรงถึงชีวิต

โรคซิฟิลิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่ร่างกายผ่านเยื่อบุต่าง ๆ และแพร่กระจายทำให้เกิดอาการของโรค โดยมีระยะฟักตัวราว 2-4 สัปดาห์จนถึง 3 เดือน เมื่อได้รับเชื้อแต่ละคนจะแสดงอาการต่างกัน โดยหลัก ๆ แล้วแบ่งได้ 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 – ผู้ป่วยจะมีตุ่มเล็กบริเวณอวัยวะเพศ ลิ้น ริมฝีปาก หัวนม และเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะจะตุ่มจะขยายและแตกเป็นแผล แม้ไม่มีอาการเจ็บหากปล่อยทิ้งไว้เชื้อจะเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองได้

ระยะที่ 2 – ราว 2 – 3 สัปดาห์เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดตุ่มนูนขึ้น บางรายไม่แสดงอาการแต่บางรายมีไข้ร่วมด้วย

ระยะที่ 3 – คือระยะแฝง เป็นช่วงที่ไม่มีอาการ ซึ่งมักจะเป็นระยะที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่ากำลังจะเป็นซิฟิลิสหากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคจากแพทย์ ในระยะนี้ส่งผลให้ลุกลามจนถึงระยะที่ 4 ในที่สุด

ระยะที่ 4 – หลังจากติดเชื้อราว 2 – 30 ปี หากว่าผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษาเชื้อจะลามและส่งผลร้าย เช่น หูหนวก ตาบอด สมองเสื่อม ทำให้หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด ทั้งนี้อาการของโรคจะแสดงออกและรุนแรงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเฉพาะบุคคลด้วย

เมื่อไหร่ที่ควรไปตรวจโรคซิฟิลิส

เนื่องจากเป็นโรคติดต่อที่ไม่ได้แสดงอาการชัดเจนในช่วงแรก ทั้งยังมีระยะแฝง บางคนอาจไม่รู้ตัวว่าได้รับเชื้อโรค จากข้อสงสัยเมื่อไหร่ควรไปตรวจหาซิฟิลิส คำตอบคือเมื่อพบความปกติตั้งแต่ในระยะแรกคือเริ่มตุ่มเล็กบริเวณอวัยวะเพศ เพื่อป้องกันการลุกลามของโรค แม้ว่าจะไปตรวจแล้วไม่ได้เป็นซิฟิลิสก็จะได้สบายใจและรักษาให้ตรงจุดต่อไปนั่นเอง ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์จะต้องตรวจหาเชื้ออยู่แล้วจากการตรวจเลือด ขอให้เป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัยของคุณและลูกในท้อง ทั้งนี้ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถไปตรวจหาโรคได้เช่นกัน

กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรคซิฟิลิสโรคซิฟิลิส

กลุ่มเสี่ยงที่ติดโรคนี้มากที่สุด คือ กลุ่มวัยรุ่น นักเรียน รวมถึงผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงโดยตรงก็ต้องให้ความสำคัญในการป้องกันโรคนี้ด้วยความไม่ประมาทดีกว่า อยากหากไกลจากซิฟิลิสต้องป้องกันตัวเองอย่างไรมาติดตามกันต่อ

แนวทางในการป้องกันโรคซิฟิลิส

เนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยตรงเพื่อป้องกันโรคก่อนมีเพศสัมพันธ์จะต้องสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากสามารถติดต่อได้จากสารคัดหลั่งอื่น ๆ ด้วย เช่น น้ำลาย ดังนั้นการสวมถุงยางอนามัยจึงยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรคดังกล่าว เพื่อห่างไกลจากโรคนี้แนวทางป้องกันเหล่านี้ช่วยคุณได้

  • งดมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่สามีหรือภรรยา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นต้นเหตุทำให้ขาดสติและนำพามาซึ่งโอกาสการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
  • หากมีเพศสัมพันธ์ต้องใช้ถุงยางอนามัย
  • เนื่องจากเป็นโรคที่เคยแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นและเด็กนักเรียน ทางที่ดีผู้ปกครองควรให้คำปรึกษาและคำแนะนำหากว่ามีบุตรหลานในวัยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อายุระหว่าง 15 – 24 ปี

ก่อนหน้านี้หากติดตามข่าวสารจะทราบว่าโรคซิฟิลิสไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะเคยระบาดหนักมาแล้วจนเป็นข่าวดังในประเทศไทย ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ควรรู้เท่าทันโรคเพื่อป้องกันการติดต่อ เพราะหากว่าใครติดเชื้อนี้แล้วเมื่อรู้ทันสามารถรักษาให้หายขาดได้หากว่ารู้ทันและรักษาได้ไว ดังนั้นถ้ามีความสงสัยว่าตนเองได้รับเชื้อไม่ควรนิ่งนอนใจและรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจหาโรคและรับการรักษาต่อไป